วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติที่มาเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ

รามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ

พระราม

พระลักษมณ์

           บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื้อเรื่องมาจากวรรณคดีของอินเดียเรื่อง รามายณะ อันเป็นวรรคดีที่สำคัญและมีมานานกว่า ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว ไทยเรานำมาเล่นเป็นหนังและโขน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ เป็น กลอนบทละคร แต่ไม่แพร่หลายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเกรงว่า เรื่อง รามเกียรติ์ จะสูญไปเสียจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นและได้โปรดเกล้าฯ ในกวีในสมัยของพระองค์ร่วมนิพนธ์ด้วยหลายตอนรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่อง รามายณะ ของอินเดียแล้วก็มีที่แตกต่างกันหลายอย่าง เช่น เนื้อเรื่องบางตอน ชื่อตัวละครบางตัว เป็นต้น นอกจากนี้ในอินเดีย วรรณคดีเรื่องนี้ถือกันว่าเป็นคัมภีร์สำคัญเพราะเป็นเรื่องราว ที่แสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของ พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุที่ไทย เรานับถือพุทธศาสนา เราจึงมิได้ยึดถือเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังนัก ดังที่กล่าวไว้ ในตอนท้ายเรื่องว่า
   
               อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์    ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย 
          ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด                ตั้งพระทัยสมโภชบูชา 
          ใครฟังอย่าได้ไหลหลง                  จงปลงอนิจจังสังขาร์ 
          ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา         โดยราชปรีดาก็บริบูรณ์

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิมว่า ทองด้วง เมื่อทรงเจริญวัยได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ต่อมาในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์ได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้อิสรภาพได้แล้ว ทรงรับราชการอยู่ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ทรงเป็นแม่ทัพสำคัญในการปราบปรามชุมนุมต่างๆ และหัวเมืองเขมร ลาว  แข็งข้อ ตลอดจนกองทัพพม่าที่ยกมาตีเชียงใหม่ และพิษณุโลกได้อย่างสามารถ  มีความดีความชอบได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยลำดับจากพระราชวรินทร  พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี จนถึงสมเด็จเจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก     ต่อมากรุงธนบุรีเกิดจลาจล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ ประชาราษฏร์จึงได้กราบทูลอัญเชิญ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕  พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร
          ตลอดรัชการพระองค์ต้องทรงกระทำสงครามกับพม่า ยาม สงบศึกก็ทรงบูรณะ ฟื้นฟูพระนครและพระราชอาณาจักรหลายด้าน เช่น การปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร พระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และศิลปกรรม และที่สำคัญยิ่งคือ ได้ทรงริเริ่มการสังคายนาพระไตรปิฏก และจารึกไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ทั้งในการรบและการประพันธ์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง  รามเกียรติ์ ฉบับสมบูรณ์บทละครเรื่อง อิเหนา อุณรุท นิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง และกวี ช่วยกันแต่งวรรณกรรมต่างๆ ที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ได้สูญหายไปเมื่อคราวเสียกรุง ให้แต่งขึ้นใหม่เป็นวรรณคดี สำหรับพระนคร
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์สมบัติอยู่ ๒๗ปี เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระชนมายุ ๗๓ พรรษา

สังเขปเรื่องรามเกียรติ์ ก่อนถึงตอนศึกไมยราพ
          เรื่องรามเกียรติ์ เป็นเรื่องยาวมาก ต้นเค้านั้นคือ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โลกของเรานี้จะมีคนพาลมาเกิดและก่อการร้ายทั่วไป แล้วพระนารายณ์ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของฮินดูก็จะอวตาร หรืออีกนัยหนึ่งลงมาเกิดในมนุษย์โลก และปราบพาล ให้มนุษย์ได้มีสันติสุขเหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดเป็นระยะไป
          ในเรื่อง รามเกียรติ์ พระนารายณ์ได้อวตารมาเป็นพระราม เพื่อมาปราบทศกัณฐ์ และวงศ์ญาติที่มีฤทธิ์อำนาจมาก แต่เป็นพาล
          เรื่องย่อก็คือ       พระรามได้รับโองการจากพระบิดาให้มาดำเนินชีวิตเป็นนักบวชอยู่ ในป่าก่อนที่จะรับราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบราชวงศ์ต่อไป พระลักษณ์ผู้เป็นพระอนุชา และนางสีดาผู้เป็นชายา ของพระรามก็ตามมาด้วยความภักดี ทศกัณฐ์เมื่อเห็นสีดาก็ลุ่มหลง จึงทำกลลวง ให้พระรามและพระลักษณ์ทิ้งนางสีดาไว้ ณ บรรณศาลาที่พักแต่ลำพัง แล้วทศกัณฐ์ก็ไปลักตัวนาง สีดามาไว้ในกรุงลงกา
          พระรามกับพระลักษณ์ได้รับความช่วยเหลือจากชายนครขีดขิน ซึ่งเป็นลิงที่มีฤทธิ์เดชโดยเฉพาะหนุมานเป็นลิงที่มีฤทธิ์เดชมาก และเป็นผู้ที่มีความภักดีต่อพระรามอย่างยิ่ง พระรามและพระลักษณ์ กับลิงชาวนครขีดขินได้รวมกันเป็นกองทัพใหญ่ สร้างถนนข้ามมหาสมุทรมาตั้งทัพในเกาะลงกา ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดสามารถทำได้
          ทศกัณฐ์ได้ให้ญาติหลายตนออกรบกับพระรามต่างก็พ่ายแพ้เสียชีวิต ทศกัณฐ์จึงคิดถึงไมยราพ ซึ่งครองเมืองบาดาลว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีกล้องสำหรับเป่ายาวิเศษพร้อมด้วยมนต์สำหรับสะกดให้คนหลับ จึงไปขอให้ไมยราพมาช่วยทำสงคราม
          ก่อนที่ไมยราพจะได้รับข่าวสงคราม ไมยราพฝันว่า มีดาวดวงน้อยเปล่ง รัศมีบดบังดวงจันทร์ ครั้นให้โหรทำนายฝัน โหรทูลว่าจะมีพระญาติได้ขึ้นผ่านราชสมบัติแทนพระองค์ไมยราพได้ให้โหรตรวจดวงชะตาของพระญาติ โหรพบว่าดวงชะตาของไวยวิกแสดงว่าจะได้ขึ้นสืบราชสมบัติ ไมยราพจึ้งให้จับไวยวิกกับมารดาคือนางพิรากวนไปใส่ตรุไว้
          ฝ่ายพระรามฝันอสุรินทร์ราหูจับพระอาทิตย์แล้วพาเคลื่อนไป แต่พระรามยื่นมือไปหักฉัตรในพรหมโลกได้ ส่วนพระบาทนั้นยื่นลงไปยังใต้ธรณี พิเภกซึ่งเป็นโหรของพระรามพยากรณ์ ว่าพระรามจะถูกศัตรูจับไปและภายหลังจะรอดมาได้ จะมีเกียรติยศเลื่องลือไปทั่วจนถึงพรหมโลก
          เมื่อได้ทราบเช่นนั้น กองทัพของพระรามก็จัดการอยู่ยามรักษาพระรามกันอย่างเข้มงวด หนุมานนิมิตตนให้มีกายใหญ่ และอมพลับพลาของพระรามไว้ พระลักษมณ์นั้นนั่งเป็นยามคอยเฝ้าอยู่กับแท่นที่บรรทมของพระราม
          ไมยราพได้ลอบเข้าไปใกล้กองทัพพระราม แล้วแปลงตัวเป็นลิงป่าตัวเล็กเข้าไปปะปนกับพลทหารลิงของพระราม ได้ทราบจากพลทหารว่า เมื่อถึงเวลาพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาจากขอบฟ้า พระรามก็จะพ้นเคราะห์ ไมยราพจึงเหาะขึ้นไปบนอากาศ กวัดแกว่งกล้องทิพย์ให้เกิดแสงทำให้พลทหารลิงเห็นว่าเป็นเวลาเช้าตรู่แล้ว พลลิงทั้งหลายก็หยอกเย้ากัน และพากันนอนไมยราพจึงเข้าไปใกล้พลับพลาของพระรามได้

สังเขปเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ
          ไมยราพเจ้าเมืองบาดาล มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด เมื่อเป่ายาและร่ายมนต์ก็สามารถสะกดคนให้หลับหมดได้ ไมยราพได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระรามก่อนทำศึกกับพระราม ไมยราพฝันเป็นลางว่า มีดาวดวงน้อยเปล่งรัศมีมาบดบังดวงจันทร์ โหรทำนายว่าพระญาติ(ไวยวิก)จะได้ขึ้นครองเมืองแทน ไมยราพจึงหาทางป้องกันมิให้เป็นไปตามคำทำนายโดยการจับไวยวิกและมารดาคือนางพิรากวน(พี่สาวของไมยราพ)ไปขังไว้ ฝ่ายพระรามก็ฝันว่าราหูมาบดบังพระอาทิตย์แล้วจับไปได้ พิเภกทำนายว่าพระรามจะถูกลักพาตัวไปแต่จะรอดกลับมาได้ เมื่อใดที่พระอาทิตย์ขึ้นพระรามจะพ้นเคราะห์ หนุมานจึงพยายามหาทางป้องกันโดยเนรมิตกายให้ใหญ่อมพลับพลาที่ประทับของพระรามเอาไว้ แต่ไมยราพซึ่งปลอมตัวเป็นพลทหารลิงแอบล่วงรู้ความลับนี้ จึงเหาะขึ้นไปบนอากาศกวัดแกว่งกล้องทิพย์ทำให้เกิดความสว่าง พลลิงทั้งหลายที่อยู่ยามเข้าใจว่าเป็นเวลาเช้าแล้วก็พากันละเลยต่อหน้าที่ บ้างก็นอนหลับ บ้างก็หยอกล้อกัน
ไมยราพจึงย่องเข้าไปเป่ายาสะกดไพร่พลในกองทัพของพระรามจนหลับใหลไปหมด แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เมื่อถึงเมืองบาดาลไมยราพสั่งให้นำพระรามไปขังไว้ในกรงเหล็ก และนำไปไว้ยังดงตาลท้ายเมืองบาดาล จัดทหารยักษ์จำนวนโกฏิหนึ่ง( ๑๐ ล้านตน)เฝ้าเอาไว้อย่างแน่นหนา และสั่งให้นางพิรากวนตักน้ำใส่กระทะใหญ่เพื่อเตรียมต้มพระรามกับไวยวิกในวันรุ่งขึ้น ทางกองทัพของพระรามเมื่อทราบว่าพระรามถูกลักพาตัวไปให้หนุมานตามไปช่วยพระรามที่เมืองบาดาล ระหว่างทางหนุมานได้พบกับด่านต่าง ๆ หลายด่าน คือ ด่านกำแพงหินที่มียักษ์รักษานับพัน ด่านช้างตกมัน ด่านภูเขากระทบกันเป็นเปลวไฟ ด่านยุงตัวโตเท่าแม่ไก่ และด่านมัจฉานุ(บุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา) หนุมานสามารถผ่านด่านต่างๆได้ และได้ขอให้มัจฉานุบอกทางไปยังเมืองบาดาลให้ แต่มัจฉานุนึกถึงพระคุณของไมยราพที่ชุบเลี้ยงตนเป็นบุตรบุญธรรม จึงเลี่ยงบอกทางไปเมืองบาดาลให้หนุมานทราบเป็นความนัยให้หนุมานนึกเดาเอา หนุมานจึงตามไปถึงเมืองบาดาลพบนางพิรากวนออกมาตักน้ำตามคำสั่งของไมยราพ จึงขอให้นางพิรากวนพาเข้าเมืองบาดาลโดยการแปลงเป็นใยบัวติดสใบนางเข้าไป หนุมานค้นหาพระรามจนพบแล้วร่ายมนต์สะกดยักษ์ที่อยู่เวรยามให้หลับหมดพาพระรามออกมาจากเมืองบาดาลและไปฝากเทวดาที่เขาสุรกานต์ให้ช่วยดูแลพระราม ส่วนตนเองก็ย้อนกลับไปสู้กับไมยราพ และฆ่าไมยราพตายในที่สุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น